เทือกเขาภูเวียง  หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “เทือกเขาไดโนเสาร์ภูเวียง” มีวิวัฒนาการมาพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของ “ที่ราบสูงโคราช”  เริ่มมาตั้งแต่ยุคคาร์บอนิเฟอรัส (360 ล้านปีก่อน) ถึงยุคทะเลเพอร์เมียน (286-245 ล้านปีก่อน) จากนั้นเกิดเหตุการณ์ Indosinian Orogeny (250 ล้านปีก่อน) ซึ่งเป็นการเคลื่อนตัวเข้าชนกันของแผ่นอนุทวีปฉานไทย และแผนอนุทวีปอินโดไชน่า  ส่งผลให้แผ่นดินบริเวณนี้ยกตัวสูงขึ้น  ครั้นต่อมาแผนดินที่ถูกยกขึ้นเกิดการคลายตัวลดระดับลงกลายเป็นแอ่งสะสมตะกอนที่เราทราบกันดีในชื่อ “แอ่งโคราช”  เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดช่วยปลายยุคไทรแอสซิก (200 ล้านปีก่อน)  จนสิ้นสุดไปพร้อมกับการสูญพันธุ์ของสัตว์โลกดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์เมื่อปลายยุคครีเทเชียส  แล้วช่วงสุดท้ายของวิวัฒนาการ (64-65 ล้านปีก่อน) ชั้นหินตะกอนในแอ่งโคราชก็ถูกแรงกระทำอีกครั้งหนึ่ง ที่เรียกว่า Himalayan Orogeny ซึ่งเกิดจากการเข้าชนกันของแผ่นทวีปอินเดียและแผ่นทวีปยูเรเชีย  ก่อกำเนิดแนวเทือกเขาหิมาลัยไปพร้อมกับการยกตัวสูงขึ้นของที่ราบสูงโคราช  และเป็นการเริ่มต้นมหายุคใหม่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจนถึงยุคปัจจุบัน


       ฟอสซิลไดโนเสาร์ชิ้นแรกของไทยพบที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ในปี 2519 โดยนายสุธรรม แย้มนิยม อดีตนักธรณีวิทยาของกรมทรัพยากรธรณี ขณะสำรวจแร่ยูเรเนียม ในหมวดหินเสาขัว ที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง บริเวณห้วยประตูตีหมา กระดูกชิ้นนี้มีความกว้างยาวประมาณ 1 ฟุต จากการเปรียบเทียบพบว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับไดโนเสาร์ซอโรพอด ซึ่งมีขนาดใหญ่ยาวประมาณ 15 เมตร และจากการตรวจสอบพบว่าเป็นส่วนปลายล่างสุดของกระดูกต้นขาของไดโนเสาร์จำพวกกินพืช การสำรวจไดโนเสาร์ที่ภูเวียงได้เริ่มต้นอย่างจริงจังในปี 2524 โดยนายเชิงชาย ไกรคง นักธรณีวิทยาจากกรมทรัพยากรธรณี ได้พาคณะสำรวจโบราณชีววิทยาไทย และฝรั่งเศสขึ้นไปสำรวจกระดูกไดโนเสาร์บริเวณยอดห้วยประตูตีหมา อำเภอภูเวียงคณะสำรวจพบกระดูกไดโนเสาร์ชนิดกินพืชขนาดใหญ่ รวมทั้งฟันจระเข้ กระดองเต่า ฟันและเกล็ดปลาโบราณ และจากการสำรวจในเวลาต่อมาได้พบกระดูกไดโนเสาร์อีกหลายชนิด ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงจัดตั้งขึ้น โดยความร่วมมือของกรมทรัพยากรธรณี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และจังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าของนักวิชาการ สำหรับให้การศึกษาแก่เยาวชน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดขอนแก่น 

ภายหลังจากการค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ชิ้นแรกแล้ว ต่อมาได้มีการขุดค้นพบซากฟอสซิลรวมถึงรอยเท้าไดโนเสาร์ รวม 9 หลุม ดังนี้          หลุมที่ 1 (ประตูตีหมา) พบกระดูกไดโนเสาร์ขนาดใหญ่จำนวนมากเรียงรายอยู่ในชั้นหิน

          หลุมที่ 2 (ถ้ำเจีย) พบกระดูกส่วนคอของไดโนเสาร์ซอโรพอดเรียงต่อกัน จำนวน 6 ชิ้น

          หลุมที่ 3 (ห้วยประตูตีหมา) พบกระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครงหลายชิ้น ของไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่

          หลุมที่ 4 (โนนสาวเอ้) พบฟอสซิลกระจายเป็นบริเวณกว้างกว่า 10 ตารางเมตร ประกอบด้วยกระดูกไดโนเสาร์ซอโรพอดขนาดใหญ่ และที่อยู่ในวัยเยาว์ นอกจากนั้นยังพบเกล็ดปลาเลปิโดเทสและกระดองเต่า

          หลุมที่ 5 (ซำหญ้าคา) หลุมที่ 6 (ดงเค็ง) และหลุมที่ 7 (ภูน้อย) พบไดโนเสาร์ทั้งขนาดใหญ่และที่ยังเยาว์ และยังพบฟอสซิลของจระเข้ขนาดเล็กอีกด้วย

          หลุมที่ 8 (หินลาดป่าชาด) พบรอยเท้าไดโนเสาร์ มากกว่า 60 รอยใน 10 แนวทางเดิน เป็นของไดโนเสาร์พวกกินเนื้อขนาดเล็ก ซึ่งเดินด้วย 2 ขาหลัง

          หลุมที่ 9 (หินลาดยาว) พบกระดูกสันหลังหลายชิ้นโผล่มาจากชั้นหินทรายสีแดงของหมวดหินเสาขัว และยังพบส่วนของสะโพกด้านซ้ายและกระดูกส่วนหางกว่า 10 ชิ้น ของพวกไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 6.5 เมตร

ที่มาของข้อมูลและภาพ  :  

(1) www.dmr.go.th/ewt_news.php?nid=7118

(2) หนังสือ “เรื่องเล่าเทือกเขาไดโนเสาร์ภูเวียง”  สนง.ทรัพยากรธรณีเขต 2

(3) www.thai-tour.com