โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
“โคกภูตากา” ตำบลเมืองเก่าพัฒนา อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยทรงมีพระราชดำริกับท่านเลขาธิการพระราชวังให้มีการดำเนินการอนุรักษ์พืชพรรณของประเทศ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2535 ดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริจัดสร้างธนาคารพืชพรรณสำหรับการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ การเก็บรักษาโดยการเลี้ยงเนื้อเยื่อรวมทั้งการศึกษาด้านชีวโมเลกุลในปี พ.ศ. 2536
รายละเอียดพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ในการอนุรักษ์พืชพรรณไม้เก่า เช่นทุเรียน พืชพรรณไม้ตามเกาะ เนื่องจากมีผู้สนใจน้อย แนวทางในการสร้างจิตสำนึกในเยาวชนที่ให้เห็นความงดงาม ความน่าสนใจที่จะอนุรักษ์พืชพรรณต่อไปโดยไม่ให้เกิดความเครียดการจัดทำข้อมูลที่เป็นภาพสีเพื่อสะดวกในการอ้างอิงค้นคว้า รวมทั้งพระราโชวาทในการประชุมประจำปีในวันที่ 14 สิงหาคม 2540 ที่ให้หน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมกันทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่ซ้ำซ้อนกันทรงเน้นการสอนให้เด็กเกิดความรับหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ การนำเอาธรรมชาติมาเป็นสื่อการสอน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ไม่ใช้การปลูกป่าปลูกต้นไม้เท่านั้น ทรงให้เรียนรู้ในเรื่องพรรณไม้ที่มีอยู่รอบตัว รวมทั้งการดำเนินงานให้คำนึงถึงเรื่องของกฎหมาย และสิทธิต่าง ๆ รวมทั้งมาตรฐานของงาน ที่มิใช่ดำเนินงานในประเทศเท่านั้น ต้องติดต่อกับต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการยอมรับ เป็นการสร้างความเจริญให้กับประเทศ การดำเนินกิจกรรมของโครงการฯ ในการปกปักพันธุกรรมพืช สำรวจเก็บรวบรวม ปลูกรักษาและใช้ประโยชน์ศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช วางแผนพัฒนาพันธุ์พืช สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุ์พืช และกิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โดยนำพระราชดำริ พระราโชวาท มาเป็นกรอบในการดำเนินงาน
ความเป็นมา
พื้นที่โคกภูตากา มีลักษณะเป็นป่าชุมชน ที่มีความสำคัญแห่งหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ที่มีความลี้ลับ มีอาถรรพ์ และเชื่อกันว่าเป็นเมืองลับแล ผู้ที่ไม่เชื่อถือ หรือลบหลู่ จะถูกอาถรรพ์ของโคกภูตากา ทำให้หายไปจากบ้าน และอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งยังคงมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความลี้ลับของโคกภูตากามาจนถึงปัจจุบัน
จังหวัดขอนแก่น ได้ร่วมสนองพระราชดำริในโครงการโดยการประสานงานของสถาบัน เทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตขอนแก่น ประกอบกับสภาตำบลเมืองเก่าพัฒนา (ในขณะนั้น) ปัจจุบันคือ อบต.เมืองเก่าพัฒนา อ.เวียงเก่า มีความประสงค์จะร่วมสนองพระราชดำริฯ ที่ประชุมสภาตำบลเมืองเก่าพัฒนา ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2538 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2538 และประชาชนในเขตพื้นที่ จึงมีมติ น้อมเกล้าถวายที่สาธารณะประโยชน์โคกภูตากา ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ 31991 ออกให้เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2529 เนื้อที่ 706 ไร่ 1 งาน 22 ตารางวา อยู่ในเขตบ้านเมืองเก่า หมู่ที่ 3 ต.เมืองเก่าพัฒนา อ.เวียงเก่า เพื่อร่วมสนองพระราชดำริ ในโครงการดังกล่าว
· ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร, อ.พรชัย และคณะได้มาสำรวจพื้นที่ดังกล่าว เห็นว่า ควรจะดำเนินการปกปักพื้นที่ดังกล่าว เพื่อศึกษาพรรณไม้และศึกษาด้านต่างๆ
· จังหวัดขอนแก่น จึงเสนอเรื่องไปยังเลขาธิการพระราชวังเพื่อนำความกราบบังคมทูล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงมี พระราชวินิจฉัยเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2549
· เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2539 สำนักงานพระราชวัง แจ้งว่าทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ได้
· วันที่ 15 สิงหาคม 2540 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมที่ดินได้อนุมัติให้จังหวัดขอนแก่นใช้ที่สาธารณะประโยชน์โคกภูตากา ดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวได้
การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในพื้นที่โครงการ
พื้นที่โคกภูตากา เป็นพื้นที่ที่ปกปักไว้เพื่อให้เป็นแหล่งในการศึกษาเรียนรู้ทั้งพืช สัตว์ จุลินทรีย์ เห็ด รา ยีสต์ และนำผลที่ได้จากการศึกษาไปใช้ประโยชน์ ในการดำเนินงาน ฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้
คณะวิทยาศาสตร์ ดำเนินการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ
คณะเกษตรศาสตร์ ดำเนินการวิจัย เพื่อนำความหลากหลายทางชีวภาพมาใช้ประโยชน์ โดยเน้นการวิจัยเพื่อพัฒนาให้เกิดผลทางเศรษฐกิจต่อชุมชน
คณะเภสัชศาสตร์ ดำเนินการวิจัยเพื่อแสวงหาพืชที่นำมาใช้ในการรักษาโรค และผลิตเภสัชภัณฑ์ต่างๆ
จากการศึกษาพื้นที่โคกภูตากา (เริ่มศึกษาปี 2541) พบว่ามีสภาพเป็นป่าเต็ง – รัง ไม้ที่พบมีหลากหลาย ทั้งไม้ยืนต้น (เต็ง, รัง, แดง, ตีนเป็ด, ประดู่, มะค่าแต้, มะค่าโมง) ไม้พุ่ม (ชงโค, สาบเสือ, ไผ่อ้อ, ชำพู, ยอป่า) ไม้เลื้อย (กระเช้าสีดา, ไทรสรง, ส้มลม) หญ้าอายุหลายฤดู (เพ็ก, หญ้าตบแฝก) และพืชล้มลุก (กระเจียว)
ผลงานวิจัยที่ออกมาในช่วงแรก จะเป็นผลการสำรวจในเบื้องต้นของโครงการ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการต่อยอดการศึกษาวิจัยต่อไป งานที่เสร็จแล้ว เช่น การศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพทางนิเวศวิทยาในรอบปีของโคกภูตากา (โดยใช้บอลลูนถ่ายภาพจากมุมสูง), การศึกษาระบบการเกษตรในหมู่บ้านรอบโคกภูตากา (พบว่าส่วนใหญ่ปลูกข้าวเป็นหลัก รองลงมาคือ อ้อย มันสำปะหลัง ถั่วเขียวและผักต่างๆ สิ่งสำคัญคือ ชาวบ้านอาศัยโคกภูตากาในการเลี้ยงโค กระบือ เก็บฟืนและหาของป่าเพื่อบริโภคและขาย) งานวิจัยที่ออกมาแล้ว เช่น
เรื่องเห็ดรา ในโคกภูตากา ถ้าจำแนกเป็นชนิดแล้วได้ถึง 22 ชนิด และเป็นชนิดที่กินได้ถึง 21 ชนิด
กล้วยไม้ดิน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อขยายพันธุ์ให้เข้าสู่ระบบการค้าโดยไม่ต้องนำออกมาจากป่าอีก
แมลงที่เป็นอาหารของคนในโคกภูตากา มี 10 ชนิด (ได้แก่ ไข่มดแดง, แมลงกินูน, จักจั่น, แมลงกุดจี่เบ้า, แมงแคง, แมลงทับ, ด้วงกว่าง, แมลงจิโปม, แมลงกระชอน และดักแด้หนอนไหม)
งานวิจัยที่จัดทำไว้ในแผน จนถึงปี 2549 ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ต่อเนื่องมาแต่ต้น ยกตัวอย่างเช่น
การคัดเลือกชนิดไม้หนามที่เหมาะสมสำหรับปลูกเป็นแนวรั้วธรรมชาติของโครงการ
การเพาะเลี้ยงปรับปรุงพันธุ์แมลงที่เป็นอาหารของคน (จิ้งหรีด)
การเพาะเลี้ยงแมลงกินได้ (ตั๊กแตน)
การศึกษาการผลิตและใช้ประโยชน์พืชสมุนไพรในโคกภูตากา (สมุนไพรวงศ์ขิง)
การใช้ประโยชน์จากเห็ดรา
การเพาะและพัฒนาพันธุ์กระเจียวที่พบในโคกภูตากา
ซึ่งผลงานวิจัยต่างๆ จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ที่อยู่ในพื้นที่โครงการและประชาชนโดยทั่วไป
ที่มา : อบต.เมืองเก่าพัฒนา http://mkpat.go.th/public/landmark/data/detail/landmark_id/2/menu/138